วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การคุ้มครองผู้บริโภค

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

"สินสอด"ค่าตอบแทนบิดามารดา

สินสอด
หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด
ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินสอด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2237/2518
ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1436 (มาตรา 1437 ปัจจุบัน) เพราะเป็นการแต่งงานตาม
ประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์แต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลย โดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าวเมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้ว จำเลยจึงต้องชำระเงินตามสัญญากู้ให้โจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 502/2519
สินสอดที่ฝ่ายชายนำมามอบให้แก่ฝ่ายหญิงในการแต่งงานตามประเพณีนั้น หากชายและหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน
คำพิพากษาฎีกาที่ 767/2519
ผู้ที่มิใช่บิดามารดา และไม่เป็นผู้ปกครองของหญิงไม่มีอำนาจฟ้องร้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 วรรคท้ายได้ ส่วนพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับหญิงที่เป็นผู้ปกครองตามความเป็นจริง ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจฟ้องก็เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 1555 (มาตรา 1585 ปัจจุบัน)

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ผู้ยืมที่ดีควรยืมแล้วคืน

หน้าที่ในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม (ม. 643 )
ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในเหตุที่ทรัพย์นั้นสูญหาย หรือบุบสลาย แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม เมื่อผู้ยืมใช้ทรัพย์สินโดยไม่ชอบ 4 ประการ ดังนี้

- นำไปใช้อย่างอื่น นอกจาการอันปกติแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญา

- นำไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา

- ให้บุคคลภายนอกใช้สอย

- เอาวัตถุแห่งสัญญายืมนั้นไว้นาน

******เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงสูญหายหรือ บุบสลายอยู่นั้นเอง

- ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมไปเหมือนเช่น วิญญูชน จะพึงสงวนทรัพย์สินของตน (ม.644)
- การที่ผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินดังกล่าวนี้ หากความหายและบุบสลายเกิดแก่ทรัพย์สินโดยเหตุสุดวิสัย โดยไม่ใช่ความผิดของผู้ยืม ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด

- ผู้ให้ยืมทีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเหตุที่ผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์ดังกล่าว

- ผู้ให้ยืมมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้ผู้ยืม จัดการสงวนรักษาทรัพย์สินและเรียกค่าเสียหาย (ม.213)

- ผู้ให้ยืมมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญายืมได้ เมื่อผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์สินั้น (ม. 645)

การคืนทรัพย์สินที่ยืม (ม. 646)

- การยืมมีกำหนดเวลาต้องส่งคืนเมื่อครบกำหนด

- การยืมไม่มีกำหนดเวลา แยกพิจารณาได้ดังนี้ (ม. 646 ว.หนึ่ง)

- เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วต้องคืน

- ผู้ให้ยืมเรียกคืนเมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมควรใช้ทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ผู้ยืมต้องคืน

- กรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาและทั้งไม่ปรากฏว่ายืมไปเพื่อการใด ผู้ให้ยืมเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ และเมื่อเรียกคืนแล้วผู้ยืมต้องคืน

สองอย่างนี้มันเหมือนกันหรือต่างกันนะ ระหว่าง จ้างทำของกับจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของ
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างทำของมีดังนี้
1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน
กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน

2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ
กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง

3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ
กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถใช้บังคับได้

---------------------------------------------------------------------------------
สัญญาจ้างแรงงาน
มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน
เป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal contract)เรียกคู่สัญญาว่า “นายจ้าง” (Employer) กับ “ลูกจ้าง” (Employee) ไม่ใช่เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” (จ้างทำของ) หรือ “ตัวการ” กับ “ตัวแทน” (สัญญาตัวแทน)ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้ (ค่าจ้างตามกม.คุ้มครองแรงงานจะต้องเป็นเงินเท่านั้น หากนายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นสิ่งของก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) ลูกจ้างต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานทำขึ้นโดยถือตัวคู่สัญญาเป็นสาระสำคัญ (Intuitu Personae) (โอนสิทธิไม่ได้ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอม)
สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างสิทธิของนายจ้าง
นายจ้างมีสิทธิที่จะทำให้ลูกจ้างทำงานตามที่ได้ มีการตกลงกันไว้ นายจ้างมีสิทธิที่จะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคล ภายนอกได้เมื่อลูกจ้างยินยอม นายจ้างมีสิทธิออกคำสั่งและใช้อำนาจบังคับบัญชา โดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างขาดงาน ไปโดยปราศจากเหตุอันควร นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างให้บุคคล ภายนอกทำงานแทน โดยนายจ้างมิได้ให้ความยินยอม ในกรณีสัญญาไม่มีกำหนดว่าจะจ้างนานเท่าไรนายจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า
หน้าที่ของนายจ้าง
นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า "เมื่อมีการจ้างงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้าง ชอบที่จะได้รับใบสำคัญ แสดงว่า ลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้น เป็นงานอย่างไร นายจ้างต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้ กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่ง ของนายจ้าง

--------------------------------------------------------------------------------
สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้าง
สิทธิของลูกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิให้บุคคลภายนอกทำงานแทนได้เมื่อนายจ้างยินยอม ลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงว่าทำงานมานานแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าไม่ได้กำหนดว่าจะจ้าง
เป็นระยะเวลานานเท่าไร ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า
หน้าที่ของลูกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างต้องไม่ขาดงานโดยปราศจากเหตุสมควร ลูกจ้างต้องปฎิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฏหมาย



ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างทำของกับสัญญาจ้างแรงงาน
 สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินค้าเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
 จ้างแรงงานมุ่งเน้นที่แรงงานของลูกจ้าง ส่วนจ้างทำของมุ่งที่ผลสำเร็จของงาน
 จ้างแรงงานนายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาในระหว่างทำงานส่วนจ้างทำของผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจดังกล่าว
 จ้างแรงงานลูกจ้างได้รับค่าจ้าง แม้ยังไม่มีผลสำเร็จของงานส่วนจ้างทำของโดยทั่วไปจะได้สินจ้างเมื่อทำงานจนเสร็จ
 จ้างแรงงานนายจ้างต้องร่วมรับผิด กรณีลูกจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้าง ส่วนจ้างทำของผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิด กรณีผู้รับจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
 จ้างแรงงานลูกจ้างมักจะใช้เครื่องมือของนายจ้าง ส่วนจ้างทำของผู้รับจ้างทำงานโดยใช้เครื่องมือของตนเอง

ที่มา http://www.pongrang.com/web/data/lern/dnfe5.nfe.go.th/ilp/42030/42030-2.htm

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิเคราะห์การนำหลักกฏหมายมาใช้กับเรื่อง "Happy Birthday"





..................เรื่องราว ของเภาและเตน ในวันคล้ายวันเกิดของเตน สิ่งที่เป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดของเตน ก็คือเภา วันนั้นเภาได้โทรมาหาเตน และกล่าวประโยคคำสำคัญ ณ สี่แยกไฟแดง ฝั่งตรงข้ามกับร้านอาหาร ที่เตนและเภาได้นัดกัน เสียงโทรศัพท์ เตนดังขึ้น เภาคุยหยอกล้อกับเตน เภาบอกเตนว่าได้ไปซื้อของขวัญ มาให้เตน เตนได้บอกกับไปว่า แค่เภามาก็ถือเป็นของขวัญของเตนแล้ว เภาจึงขอคำมั่นสัญญา จากเตนว่า
"สัญญานะจะดูแลของขวัญชิ้นนี้ไปตลอดชีวิต" ใครจะรู้ว่านี้คือความรู้สึกที่สำคัญมากสำหรับผู้ชายคนหนึ่ง


....................เภาเกิดอุบัติเหตุหลังจากวางโทรศัพท์ ทำให้แพทย์ที่รักษาได้ชี้แจงกับพ่อแม่ของเภาว่า เภามีกระดูกหลายที่ที่หักและก้านสมองตาย อยู่ที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจว่าจะรักษาต่อหรือถอดสายออกซิเจน


....................ในทางการแพทย์ คนไข้ที่ก้านสมองตายเราถือว่าได้เป็นบุคคลที่สูญเสียชีวิตไปแล้ว แต่เตนไม่ยอม จึงพูดคุย กับพ่อแม่เภาว่า ของเปลี่ยนให้เค้าเป็นเจ้าของไข้แทน เตนดูแลเภาทุกอย่างตามที่ได้สัญญากับเภาไว้

.....................เวลาผ่านไป พ่อกับแม่เภาเห็นว่าไม่อยากให้เภาอยู่ในสภาพเจ้าหญิงนิทรา จึงมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ทนายถามว่าผู้ร้องได้ดึงคนไข้ไว้เนื่องจากสาเหตุใด เตนตอบว่าเพราะ "ผมรักเธอ" ถึงวันตัดสิน ศาลได้ตัดสินว่าให้อยู่ในการดูแลของบิดามารดา เช่นเดิม ปัญหาการตายทางการแพทย์ที่เรียกว่า “ก้านสมองตาย” นี้ได้เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว

....................ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างวิชาการทางแพทย์และทางกฎหมาย โดยทางการแพทย์ตามหลักวิชาการยืนยันว่าผู้ที่ก้านสมองตายนั้นถือว่าเป็นการตายแล้วและ แพทย์สามารถยุติการรักษาชีวิต


.....................จากเรื่องราวทั้งหมด คุณคิดว่า เตน ซึ่งเป็นแค่ "แฟน" จะสามารถขอดูแลเตน ที่เป็นคนรัก ซึ่งแพทย์เห็นว่าเป็นบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วได้หรือไม่


......................กล่าวถึงหลักกฏหมายของไทยว่าด้วยการเสียชีวิต พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิการตาย มาตรา 24 ระบุไว้ว่า“บุคคล มีสิทธิแสดงความจำนงเกี่ยวกับวิธีการรักษาพยาบาลหรือปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อการยืดชีวิตในวาระสุดท้าย ในชีวิตของตนเอง เพื่อการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” โดยมีคำชี้แจงว่าเพื่อให้บุคคลมีสิทธิเลือกตายอย่างสงบ


.....................ตามความเห็นของข้าพเจ้า เมื่อดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้ว รู้สึกเห็นใจเตนที่มั่นคงในความรักของตนเอง ทั้งๆที่ เภาไม่สามารถโต้ตอบอะไรตนได้ คงจะรู้สึกเหมือนกับพ่อกับแม่ของเภาที่ไม่ตัดสินใจที่จะดึงสายออกซิเจนออก

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัญญาขายฝาก

“สัญญาขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายซึ่งสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของ ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงในขณะทำสัญญาว่า ผู้ขายมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่ต้องไม่เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทรัพย์สินทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม เช่น ที่ดิน ที่สวน ไร่นา บ้าน รถยนต์ เรือ เกวียน โทรทัศน์ ย่อมสามารถ ขายฝากได้เสมอ ยกตัวอย่าง การขายที่ดินโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ขายต้องการซื้อคืน ผู้ซื้อจะยอมขายคืนเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงให้ไถ่คืนได้
ตัวอย่างการขายฝาก นายดำนำสวนเงาะไปขายกับผู้ใหญ่ลี โดยมีข้อตกลง ในขณะทำสัญญาว่า ผู้ใหญ่ลี ยินยอมให้นายดำไถ่ที่ สวนทุเรียนนั้นคืนได้ภายในกำหนด ๒ ปี นับแต่วันที่ซื้อขายที่สวนกัน สัญญาชนิดนี้เรียกว่า สัญญาขายฝาก ข้อตกลงที่ว่า " ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ " ข้อตกลงนี้จะต้องมีขึ้นในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกันเท่านั้น ถ้าทำขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว สัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาฝากขาย แต่เป็นเพียงคำมั่นว่าจะ ขายคืน เท่านั้น
รูปแบบของการขายฝาก
· ถ้าเป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ( คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ) เช่น ที่ดิน ที่นา บ้าน ฯลฯ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ เป็นที่ดินต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ถ้าเป็นบ้านก็ จดทะเบียนต่อ ที่ว่าการอำเภอที่บ้านนั้นตั้งอยู่ ถ้าไม่ทำตามนี้แล้ว ถือว่าสัญญาขายฝากนี้เสียเปล่า เป็นอันใช่ไม่ได้ เท่ากับว่า ไม่ได้ทำสัญญากันเลย
ตัวอย่างการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ เช่น นายดำต้องการขายฝากที่ดิน ๑ แปลง แก่นายแดง ก็ต้องทำสัญญา ขายฝากที่ดินและจดทะเบียนการขายฝากที่ดินนี้ ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ถือว่าสัญญาขายฝาก รายนี้เสียเปล่าใช้ไม่ได้มาตั้งแต่แรก
· ถ้าเป็นการขายฝากสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ( คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ เป็นพิเศษว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ) เช่น แพ เรือยนต์ สัตว์พาหนะ ฯลฯ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเรือจะต้องจดทะเบียนที่ กรมเจ้าท่าสัตว์พาหนะและแพจะต้อง จดทะเบียนที่อำเภอ ถ้าไม่ทำตามนี้แล้วถือว่าสัญญาขายฝากจะเสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้เลย
· ถ้าเป็นการขายฝากสังหาริมทรัพย์ชนิดธรรมดา ( คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ) ที่มีราคาตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไป เช่น รถยนต์ ตู้เย็น แหวน สร้อย นาฬิกา โทรทัศน์ ฯลฯ การขายฝากชนิดนี้ ต้องมีหลักฐาน เป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบเป็นสำคัญ หรือต้องมีการวางมัดจำหรือจำต้องมีการชำระหนี้บางส่วน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าไม่ทำตามนี้แล้วกฎหมายถือว่า สัญญาขายฝากรายนี้ต้องห้ามมิให้มีการฟ้องร้องบังคับคดี
“ข้อตกลงไม่ให้ผู้ซื้อฝากจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายฝาก” ในการตกลงฝากคู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อฝาก จำหน่ายทรัพย์สิน ที่ขายฝากก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อฝากฝ่าฝืน ข้อตกลงที่กำหนดในสัญญาโดยนำทรัพย์สินที่ขายฝากไป จำหน่ายให้ผู้อื่น ผู้ซื้อฝากจะต้องรับผิดชดใช้ ความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขายฝาก
ตัวอย่าง นางดำ นำแหวนแต่งงานของตนซึ่งมีราคา ๗๐,๐๐๐ บาท ไปขายฝากต่อเถ้าแก่เฮงในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โดยในสัญญาตกลงว่า " ห้ามเถ้าแก่เฮงนำแหวนไปขายให้แก่บุคคลอื่น " ต่อมาเถ้าแก่เฮงนำแหวน ไปขายให้แก่นางจิ๋ว โดยนางจิ๋วไม่ทราบว่าแหวนนี้เป็นของผู้ใด เป็นเหตุ ให้นางดำไม่สามารถติดตามเอาแหวนคืนได้ เช่นนี้เถ้าแก่เฮงต้องชดใช้ ค่าเสียหายอันเป็นราคาแหวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นางดำ
กำหนดเวลาในการไถ่ทรัพย์สินคืน
๑. ถ้าเป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดเวลา ในการใช้สิทธิไถ่คืน ไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่มีการซื้อขายฝากกัน แต่ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาในการไถ่เอาไว้ หรือกำหนดเวลาไว้เกินกว่า ๑๐ ปี กฎหมายให้ลดเวลาลงเหลือแค่ ๑๐ ปีเท่านั้น
๒. ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษและชนิดธรรมดา ต้องกำหนดเวลาไถ่คืนไม่เกิน ๓ ปีนับแต่วันที่มีการซื้อขายกัน แต่ถ้าไม่ได้ กำหนดเวลาในการไถ่คืนเอาไว้ หรือกำหนดเวลาไว้เกินกว่า ๓ ปี ให้ลดเวลาลงเหลือ ๓ ปี เท่านั้น
กฎหมายกำหนดไว้ว่า กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายเวลาไถ่ถอนได้ กำหนดเวลาไถ่ถอนทรัพย์สินที่ขายฝากนั้น เดิมกฎหมายไม่อนุญาตให้ขยายเวลา แต่กฎหมายในปัจจุบัน ( ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ) อนุญาตให้ขยายเวลาได้ โดยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้รับไถ่ ส่วนทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ที่ดิน บ้าน เป็นต้น การขยายเวลาไถ่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดีระยะเวลาที่ขยายไปจะต้องไม่เกินเวลา ที่อาจไถ่ทรัพย์ได้ ตาม ( ๑ ) หรือ ( ๒ )
กฎหมายในปัจจุบัน สินไถ่ถ้าไม่กำหนดกันไว้จะไถ่ได้ตามราคาขายฝาก แต่ถ้าสินไถ่นั้น กำหนดกันไว้ กฎหมายจำกัดการกำหนดสินไถ่ว่าจะต้องไม่เกิน ราคาขายฝากรวมกับประโยชน์ตอบแทนร้อยละ ๑๕ ต่อปี เช่น ทรัพย์ที่ขายฝากไว้ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดเวลาไถ่ ๑ ปี สินไถ่ที่จะตกลงกันต้องไม่เกิน ๑๑,๕๐๐ บาท ถ้าตกลงเกินกว่านั้น ผู้ขายฝากสามารถขอไถ่ได้ในราคา ๑๑,๕๐๐๐ บาท
ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ถ้าผู้ซื้อฝากไม่ยอมรับไถ่ ผู้ขายฝาก มีสิทธิวางเงินสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ได้ และมีผลให้ทรัพย์ที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอไถ่ทันที

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของวิทยาลัยอาชีวศึกษา
ในเรื่องของการจัดหลักสูตร ได้นำ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) 2545
มาตรา 34 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณะกรรมการการอาชีวศึกษามีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรการ อาชีวศึกษาทุกระดับ ที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผน การศึกษาแห่งชาติ การส่งเสริมประสานงานการจัดการอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ
ในเรื่องของระบบการเรียนการสอน ได้นำ พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551
มาตรา ๘ การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้จัดได้ โดยรูปแบบ ดังต่อไปนี้
(๑) การศึกษาในระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันเป็นหลัก โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาการวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
(๒) การศึกษานอกระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
(๓) การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบัน และเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ในการผลิตและพัฒนากำลังคน สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันสามารถจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งในหลายรูปแบบรวมกันก็ได้ ทั้งนี้ สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันนั้นต้องมุ่งเน้นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นสำคัญ