วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การคุ้มครองผู้บริโภค

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

"สินสอด"ค่าตอบแทนบิดามารดา

สินสอด
หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (ม.1437)โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด
ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
2. ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินสอด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2237/2518
ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1436 (มาตรา 1437 ปัจจุบัน) เพราะเป็นการแต่งงานตาม
ประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์แต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลย โดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าวเมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้ว จำเลยจึงต้องชำระเงินตามสัญญากู้ให้โจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 502/2519
สินสอดที่ฝ่ายชายนำมามอบให้แก่ฝ่ายหญิงในการแต่งงานตามประเพณีนั้น หากชายและหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน
คำพิพากษาฎีกาที่ 767/2519
ผู้ที่มิใช่บิดามารดา และไม่เป็นผู้ปกครองของหญิงไม่มีอำนาจฟ้องร้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 วรรคท้ายได้ ส่วนพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับหญิงที่เป็นผู้ปกครองตามความเป็นจริง ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจฟ้องก็เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 1555 (มาตรา 1585 ปัจจุบัน)

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ผู้ยืมที่ดีควรยืมแล้วคืน

หน้าที่ในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม (ม. 643 )
ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในเหตุที่ทรัพย์นั้นสูญหาย หรือบุบสลาย แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม เมื่อผู้ยืมใช้ทรัพย์สินโดยไม่ชอบ 4 ประการ ดังนี้

- นำไปใช้อย่างอื่น นอกจาการอันปกติแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งสัญญา

- นำไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา

- ให้บุคคลภายนอกใช้สอย

- เอาวัตถุแห่งสัญญายืมนั้นไว้นาน

******เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงสูญหายหรือ บุบสลายอยู่นั้นเอง

- ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมไปเหมือนเช่น วิญญูชน จะพึงสงวนทรัพย์สินของตน (ม.644)
- การที่ผู้ยืมไม่สงวนทรัพย์สินดังกล่าวนี้ หากความหายและบุบสลายเกิดแก่ทรัพย์สินโดยเหตุสุดวิสัย โดยไม่ใช่ความผิดของผู้ยืม ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด

- ผู้ให้ยืมทีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเหตุที่ผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์ดังกล่าว

- ผู้ให้ยืมมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้บังคับให้ผู้ยืม จัดการสงวนรักษาทรัพย์สินและเรียกค่าเสียหาย (ม.213)

- ผู้ให้ยืมมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญายืมได้ เมื่อผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์สินั้น (ม. 645)

การคืนทรัพย์สินที่ยืม (ม. 646)

- การยืมมีกำหนดเวลาต้องส่งคืนเมื่อครบกำหนด

- การยืมไม่มีกำหนดเวลา แยกพิจารณาได้ดังนี้ (ม. 646 ว.หนึ่ง)

- เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วต้องคืน

- ผู้ให้ยืมเรียกคืนเมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมควรใช้ทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ผู้ยืมต้องคืน

- กรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาและทั้งไม่ปรากฏว่ายืมไปเพื่อการใด ผู้ให้ยืมเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ และเมื่อเรียกคืนแล้วผู้ยืมต้องคืน

สองอย่างนี้มันเหมือนกันหรือต่างกันนะ ระหว่าง จ้างทำของกับจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของ
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างทำของมีดังนี้
1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน
กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน

2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ
กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง

3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ
กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถใช้บังคับได้

---------------------------------------------------------------------------------
สัญญาจ้างแรงงาน
มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน
เป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal contract)เรียกคู่สัญญาว่า “นายจ้าง” (Employer) กับ “ลูกจ้าง” (Employee) ไม่ใช่เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” (จ้างทำของ) หรือ “ตัวการ” กับ “ตัวแทน” (สัญญาตัวแทน)ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้ (ค่าจ้างตามกม.คุ้มครองแรงงานจะต้องเป็นเงินเท่านั้น หากนายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นสิ่งของก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน) ลูกจ้างต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานทำขึ้นโดยถือตัวคู่สัญญาเป็นสาระสำคัญ (Intuitu Personae) (โอนสิทธิไม่ได้ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอม)
สิทธิและหน้าที่ของนายจ้างสิทธิของนายจ้าง
นายจ้างมีสิทธิที่จะทำให้ลูกจ้างทำงานตามที่ได้ มีการตกลงกันไว้ นายจ้างมีสิทธิที่จะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคล ภายนอกได้เมื่อลูกจ้างยินยอม นายจ้างมีสิทธิออกคำสั่งและใช้อำนาจบังคับบัญชา โดยชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างขาดงาน ไปโดยปราศจากเหตุอันควร นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างให้บุคคล ภายนอกทำงานแทน โดยนายจ้างมิได้ให้ความยินยอม ในกรณีสัญญาไม่มีกำหนดว่าจะจ้างนานเท่าไรนายจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า
หน้าที่ของนายจ้าง
นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า "เมื่อมีการจ้างงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้าง ชอบที่จะได้รับใบสำคัญ แสดงว่า ลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้น เป็นงานอย่างไร นายจ้างต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้ กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่ง ของนายจ้าง

--------------------------------------------------------------------------------
สิทธิและหน้าที่ของลูกจ้าง
สิทธิของลูกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิให้บุคคลภายนอกทำงานแทนได้เมื่อนายจ้างยินยอม ลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงว่าทำงานมานานแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าไม่ได้กำหนดว่าจะจ้าง
เป็นระยะเวลานานเท่าไร ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า
หน้าที่ของลูกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างต้องไม่ขาดงานโดยปราศจากเหตุสมควร ลูกจ้างต้องปฎิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฏหมาย



ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างทำของกับสัญญาจ้างแรงงาน
 สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินค้าเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
 จ้างแรงงานมุ่งเน้นที่แรงงานของลูกจ้าง ส่วนจ้างทำของมุ่งที่ผลสำเร็จของงาน
 จ้างแรงงานนายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาในระหว่างทำงานส่วนจ้างทำของผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจดังกล่าว
 จ้างแรงงานลูกจ้างได้รับค่าจ้าง แม้ยังไม่มีผลสำเร็จของงานส่วนจ้างทำของโดยทั่วไปจะได้สินจ้างเมื่อทำงานจนเสร็จ
 จ้างแรงงานนายจ้างต้องร่วมรับผิด กรณีลูกจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในทางการที่จ้าง ส่วนจ้างทำของผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิด กรณีผู้รับจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก
 จ้างแรงงานลูกจ้างมักจะใช้เครื่องมือของนายจ้าง ส่วนจ้างทำของผู้รับจ้างทำงานโดยใช้เครื่องมือของตนเอง

ที่มา http://www.pongrang.com/web/data/lern/dnfe5.nfe.go.th/ilp/42030/42030-2.htm